วันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2562

เทศกาลสงกรานต์ทั้ง 4 ของชาวฮินดู

สงกรานต์ แขกเรียก "สังกรานติ" คือช่วงเวลาที่พระอาทิตย์โคจรจากราศีหนึ่งไปอีกราศีหนึ่งตามความเชื่อทางโหราศาสตร์ที่เกี่ยวกับ 12 ราศี ของอินเดียและกรีก ตามสุริยคติ ดังนั้นสงกรานต์ในทางโหราศาสตร์มีทุก ๆ เดือน แต่เทศกาลสงกรานต์ที่สำคัญของฮินดูมีแค่ 4 ตามฤดูกาลที่สำคัญซึ่งเกี่ยวกับสังคมเกษตรกรรมและการเพาะปลูกคือ

(อินเดียโบราณมี 6 ฤดู ไทยมี 3 ฤดู ปัจจุบันมี 2 คือวันที่ฝนตก กับไม่ตก)

1) มกระ สังกรานติ (โปงเคิล - ทมิฬ 15-18 มกรา 2019 แต่ มกระ สังกรานติ 15 มกรา 2019) เหมันตฤดู (หนาว) - ศิศิร ฤดู (หมอก น้ำค้าง ลม)
   😇 ช่วงมกราคม เป็นหน้าหนาวของอินเดีย แต่เป็นหน้าฝนของทมิฬนาฑู เทศกาลโปงเคิล คือเทศกาล บูชาพระอาทิตย์ เจ้าแม่ฝน (มะลัยอัมมัน 1 ในเจ็ดเทวีพี่น้องของนางมีนักษี หรืออุมาเทวีอวตารแห่งอินเดียใต้ ที่ถือว่าเป็นที่มาของสัปตมาตฤกาในอารยธรรมสินธุ ประมาณสามพันกว่าปีก่อน) และวันสุดท้ายมีการบูชาขอบคุณสัตว์เลี้ยงที่ช่วยงานเกษตรกรรม วัว ควาย ลา หรือม้า (ถือว่าเป็นปีใหม่ของชาวทมิฬ ที่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง)

2) เมษะ สังกรานติ (ปุถานดุ -ทมิฬ 14 เมษา 2019) คิมหันตฤดู (ฤดูร้อน)
    😇 ทั้งอินเดียเหนือและใต้เป็นหน้าร้อน เทศกาลปุถานดุ ของทมิฬแม้จะไม่มีการสาดน้ำเหมือนสงกรานต์ไทย แต่ก็เป็นวันครอบครัว พบปะกัน มีการบูชาเทพเจ้าเป็นพิเศษเงียบ ๆ ในบ้าน และกินอาหารร่วมกัน โดยมากคนไม่ค่อยออกไปไหนเพราะร้อนมาก (น้ำน้อย น้ำไม่ไหล ต้องประหยัด) และที่อินเดียมีคนร้อนตายทุก ๆ ปี (บางคนก็ว่าปุถานดุก็เป็นปีใหม่ของทมิฬเช่นกัน ชาวทมิฬจึงมีปีใหม่สองครั้ง)

3) กรกะ สังกรานติ (ทักษิณยานะ 16 กรกฏา 2019 เฉพาะปีนี้ตรงกับ วันอาสาฬหบูชา) วรรษา ฤดู (ฤดูฝน)
    😇 เป็นวันบูชาพระนารายณ์เป็นพิเศษและการเริ่มต้นที่ดีของการฝึกสมาธิ

4) ตุละ สังกรานติ (ทีปวาลี 25-27 ตุลา 2019 แต่ตุละ สังกรานติ 17 ตุลา 2019)  สารทฤดู (ใบไม้ร่วง)
   😇 เทศกาลทีปวาลี หรือ "ดีวาลี" ก็ว่า เป็นเทศกาลบูชาพระลักษมี (เทวีแห่งความร่ำรวย ช่วงเริ่มเก็บเกี่ยวพืชผลขายแล้วรวย?) เป็นหลัก แต่ก็มีการบูชาเทพต่าง ๆ อีกหลายองค์ เช่นสรัสวดี เทวีแห่งความรู้ อักษรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ พระคเณศ เทพแห่งปัญญาศิลปะ และความสำเร็จ หรือระลึกพระราม ธรรมราชาผู้เป็นพระนารายณ์อวตารซึ่งกลับมาอโยธยาในวันนี้ บางก็ว่าเป็นคืนเดือนมืดที่พญายมจะมาตรวจเยี่ยมดูคุณความดีของมนุษย์ จึงต้องจุดประทีปต้อนรับก็มี มีการบูชาเทพฮินดูอย่างใหญ่โต และมีการจุดพลุไฟเล่นทั่วเมือง อย่างน่ากลัว (ประเภทเอาพลุโอ่งหลายลูกใส่ถังพลาสติกหรือปี๊บเอาไปตั้งกลางถนน แล้วจุดไฟให้ระเบิด ในขณะที่คนยังเดินไปมาหนาแน่นในถนนหนทาง ซึ่งผู้เดินจะต้องรู้จังหวะกระโดดหลบเอาเอง)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น