วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2564

เปรียบเทียบผีพ่อเกิดแม่เกิดล้านนา กับทวาทศมหาวิทยา (กาลี อวตาร)

 

ภาพนางโยคินี 64 ตนรัฐโอริสา

ที่มา Tours Orissa Compay. n.d. Online.

ผีพ่อเกิดแม่เกิด

ผีพ่อเกิดแม่เกิด เป็นผีพ่อแม่เดิมเมื่อวิญญาณมนุษย์เคยอยู่ในปรโลกหรือเมืองผีตามคติความเชื่อของล้านนาที่ว่า ก่อนคนเราทุก ๆ คนจะมาเกิดในโลกมนุษย์นี้ ทุกคนเคยเป็นวิญญาณอยู่ในปรโลกและมีพ่อแม่อยู่ที่เป็นผีคอยดูแลมาก่อน ต่อมาถึงคราวตายจากดินแดนปรโลกนั้น ก็ได้มาเกิดในโลกนี้ ที่เป็น “เมืองคน” พ่อแม่เกิดเดิมนั้นยังมีความอาลัยรัก หรือวิญญาณบางคนหนีมาเกิดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพ่อเกิดแม่เกิด ดังนั้นพ่อเกิดแม่เกิดจึงตามลงโทษ หรือกลั่นแกล้งโดยเฉพาะในช่วงที่เด็กมีอายุไม่ถึง 10 ปี จนอาจทำให้เด็กตาย กลับไปเป็นลูกของพ่อแม่เกิด ที่ไม่อยากให้มาเกิดในปรโลกอีก ดังนั้นเมื่อเด็กเจ็บป่วยรักษาไม่หาย ก็คิดว่าเป็นผลมาจากฝีมือของพ่อแม่เกิด  จึงต้องมีทำพิธี “ส่งพ่อเกิด แม่เกิด” เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้พ่อแม่ในเมืองคนที่เป็นพ่อแม่มนุษย์ ที่จะต้องทำการขอร้องเจรจาต่อพ่อแม่เกิดเพื่อให้เด็กหายป่วย ซึ่งคล้ายกับความเชื่อเรื่องแม่ซื้อของเขมร ชาวไทยภาคกลาง และนางโยคินี 64 ตนของรัฐโอริสาประเทศอินเดีย

นางโยคินี

ในอินเดียนางโยคินีคือบริวารของพระศิวะ อาจจะพัฒนามาจากสัปตมาตริกา (7 นางฟ้าประจำวันทั้ง 7 หรือกลุ่มดาวลูกไก่) ที่รายล้อมพระปศุบดี (กลุ่มดาวเต่าหรือโอไรออน) ในอารยธรรมสินธุของดราวิเดียน ก่อนที่จะกลายเป็นกลุ่มนางกฤติกาฤๅษีณีชายาของสัปตฤๅษีในสมัยพระเวทของพวกอารยัน ซึ่งเชื่อว่านางโยคินีทั้ง 64 ตน คือผีผู้หญิงดังเดิมของดราวิเดียนที่ถูกกลืนให้กลายเป็นอวตารของพระอุมาเทวีชายาของพระศิวะ ซึ่งความเชื่อท้องถิ่นในปัจจุบันนางโยคินีพวกนี้จะให้พรให้ชีวิตมนุษย์มีความสุข แต่ถ้ามีใครคนใดไปทำให้นางโกรธ ทำความชั่วนางก็จะลงโทษทำให้เกิดภัยแล้ง ฯลฯ และทำให้เด็กในหมู่บ้านเจ็บป่วย

แม่ซื้อเขมร (มนายเดิม หรือ มนายสะโนน)

มนาย เป็นภาษาเขมรถิ่นไทย “มนาย” (ภาษาเขมรกัมพุชาคือ มดาย) แปลว่า แม่ และคำว่า “เดิม” แปลว่า เก่าก่อน, ต้น มนายเดิม จึงหมายถึง แม่คนเดิม แม่คนก่อนที่จะเกิดมา ส่วนคำว่า “สะโนน” แปลว่า ผู้ปั้น  ดังนั้น มนายสะโนน จึงแปลว่า แม่ผู้ปั้น ที่เป็นผีทำหน้าที่ปั้นและสร้างทารกในครรภ์แม่ เสร็จก็เฝ้าดูแลตั้งแต่ให้กำเนิดทารกออกมาจนอยู่รอดปลอดภัย เชื่อว่าถ้าเห็นทารพหัวเราะยิ้มคนเดียว แสดงว่าผีมนายเดิมมาเล่นด้วย แต่ถ้าหากทารกหรือเด็กร้องไห้ นอนสะดุ้ง แสดงว่าผีมนายเดิมมาแกล้ง เพราะต้องการให้เด็กเสียชีวิตและกลับไปเป็นลูกของตนในเมืองผี

เปรียบเทียบแม่ซื้อประจำวัน (ไทยภาคกลาง) กับนางโยคินี

แม่ซื้อประจำวันต่าง ๆ นั้นของไทยมีมีความเชื่อคล้ายกับมนายเดิมของไทยเขมร โดยเพิ่มเติมว่าแม่ซื้อจะดูแลเด็กจนถึง 10 ปี พอหลังสิบปีแล้วจะมีเทวดาประจำตัวคุ้มครองเด็กที่เรียกว่า เจตภูต (พ่อเกิด?) อย่างไรก็ตาม แม่ซื้อประจำวันอาจจะเทียบได้กับนางโยคินี ซึ่งนางโยคินีนี้ก็คือบริวารเทพนารีที่มีฤทธิ์มากของพระศิวะและอุมาเทวีและบางก็ว่าคืออวตารของเจ้าแม่อุมาเทวีนั้นเอง มีถึงหกสิบสี่นางนิยมสร้างไว้บูชารอบวิหารของพระศิวะ ซึ่งนักวิชาการแขกบางทางท่านก็เชื่อว่านางอัปสรตามที่เราเห็นอยู่ในนครวัดทั้งหลายนั้นแท้ที่จริงแล้วคือนางโยคินีนี่เอง ซึ่งนางโยคินี นี้มีหลายประเภทที่มีรูปงามดังนางฟ้าน่ากลัวอย่างกาลี หรือ มีหน้าเป็นสัตว์ก็มี 

ที่ว่ารูปงามนั้น ก็คือนางจิตราเลขาพี่เลี้ยงของอุษาที่อุ้มพระอนิรุทธิ์มาให้นางอุษา นางก็คือนางโยคินีที่พระกฤษณะของไปเป็นชายาแลกกับที่พระศิวะของให้ไว้ชีวิตพาณาสูระพ่อของนางอุษาเรื่องของนางอุษาและพระอนิรุทธิ์นี้ถือว่าเป็นอนุภาคเรื่องเล่าจากคัมภีร์ภควัตปุราณะ (ซึ่งทมิฬเรียกว่า คัมภีร์ “ภควัตตัม”) ซึ่งเป็นวรรณคดีสันสกฤตที่ว่าด้วยเรื่องเล่าของพระกฤษณะกับพวกญาติของพระองค์ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องมหาภารตะหนึ่งในมหากาพย์ที่สำคัญที่สุดของอินเดีย ส่วนนางโยคินีที่รูปหน้าเป็นสัตว์นั้น

สามารถเทียบได้กับแม่ซื้อวันต่างๆคือ

๑. วันอาทิตย์ แม่ซื้อ วิจิตรมาวรรณ ตรงกับนางโยคินี สิงหมุกขี ทั้งสองมีหน้าเป็นสิงข์
๒. วันจันทร์ แม่ซื้อ วรรณนงคราญ ตรงกับนางโยคินี หยานะนา ทั้งสองมีหน้าเป็นม้า
๓. วันอังคาร แม่ซื้อ ยักษบริสุทธิ์ ตรงกับนางโยคินี วฤษานะนา ทั้งสองมีหน้าเป็นมหิงษา(ควาย)
๔. วันพุธ แม่ซื้อ สามลทัส นางโยคินี ตรงกับนางโยคินี คชานะนา และไวนายกี ต่างก็มีหน้าเป็นช้าง
๕. วันพฤหัสบดี แม่ซื้อ กาโลทุกข์ ตรงกับนางโยคินี มฤคศิระ ทั้งสองมีหน้าเป็นกวาง
๖. วันศุกร์ แม่ซื้อ ยักษ์นงเยาว์ ตรงกับนางโยคินี โคมุกขี ทั้งสองมีหน้าเป็นวัว
๗. วันเสาร์ แม่ซื้อ เอกาไลย์ ตรงกับนางโยคินี วยาฆมุกขี ทั้งสองมีหน้าเป็นเสือ

(นางวยาฆมุกขี นี้คือนางโยคินีหรือ ทากินี ที่ปรากฏอยู่เป็นผู้ช่วยของนาง สิงหมุขี หรือ วัชรวราหี
เจ้าแม่วราหี ในทิเบต ซึ่งทิเบตกับพม่า มอญนั้นใกล้กันไม่แปลกถ้าเราจะรับมาจากมอญ หรือพม่าอีกที)


นางโยคินี นี้มีชื่อเล่นที่ใช้เรียกกัน คือ นางยักษี นางยักษิณี นางรากษสี นางรักษากรณี จึงไม่แปลกที่นางหยานะนา จะกลายเป็น อัศวมุขียักษี ในพระบาลี หรือ อัศวมุขีรากษสีในนิทานปุราณะอื่น ๆ และถูกเหยียดหยามไปว่าเป็นนางปิศาจในที่สุด แท้ที่จริงแล้ว นางคือนางเทพเทพารักษ์ซึ่งมีต้นกำเนิดครั้งแรกน่าจะมาจากกลุ่มของนางสัปตมาตริกา ที่ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีอินเดียว่าเป็นความเชื่อที่สืบเนื่องมาจากนางรำทั้งเจ็ดตนที่ฟ้อนรำบูชาพระปศุบดี

เทพพื้นเมืองของพวก “ดาวิเดียน” (บรรพบุรุษของชาวทมิฬ) จากยุคอารยธรรมสินธุของอินเดียโบราณซึ่งพัฒนาการกลายเป็นพระศิวะในภายหลัง และนางรำทั้งเจ็ดนั้นกลายเป็นอวตารบางต่างๆของเจ้าแม่ทุรคาที่ครั้งหนึ่งนางต้องแบ่งภาคไปเพื่อจะรบกับ อสูรปิศาจ “รักตพีชะ”ที่ได้พรว่าถ้าเลือดของมันหยุดลงพื้นหยุดหนึ่งก็จะกลายเป็นตัวมันขึ้นอีกตัวหนึ่งขึ้นทันที่ไม่หมดไม่สิ้น

นางทุรคาจึงแบ่งภาคเป็นเจ็ดปาง คือ ๑.พรหมณี ทรงหงษ์,๒.มเหษวรี ทรงวัว,๓.เคามรี ทรงนกยุง, ๔.ไวษณวี มีสีกรถือคฑาจักรสังข์อย่าวิษณุ ทรงครุฑ,๕.วราหี มีหน้าเป็นหมูป่า ทรงแพะ หรือควาย, ๖.อินทราณี ทรงช้าง, และ ๗. จมุนทา(กาลี) ทรงสุนัขจิ้งจอก หรือ นรสิงหี ทรง สิงห์โต.
ซึ่ง นรสิงหี ที่เป็น นางเทวีหน้าสิงห์ นั้นอาจจะเป็นที่มาของ “นางสิงหมุขี” ในโยคินีซึ่งต่อมาจาก เจ็ดนางสัปตมาตริกา โดยได้มีการพัฒนาเพิ่มเติมโดยผนวกเอาเทพพื้นบ้านท้องถิ่นต่างของชาวพื้นเมืองเดิมของอินเดียในถิ่นต่างๆเข้าไป จนในที่สุดก็เลยกลายเป็น นางโยคินีหกสิบสี่นางขึ้นมาเป็นอีกกลุ่มหนึ่งนั้นเอง
ซึ่งความนับถือนางสัปตมาตริกาและนางโยคินีนี้ก็มีคลายคลึงกันว่าเป็น “เทพีแห่งการปกปักรักษา”“เป็นผู้ทำให้สิ่งที่รบกวนหมดไป”(พวกมาร) พวกนางจึงมีฐานะเป็นถึงเทวีมิใช่อสูรปีศาจแต่อย่างใดต่อมาเมื่อความเชื่อนี้เข้ามาสู่เขมรจึงกลายเป็นว่านางคือเทพรักษ์รักษาครรภ์เด็กและเมื่อเด็กเกิดมาแล้วยังสามารถให้คุณหรือโทษกับเด็กอีกด้วย

ก็เหมือนกับการบูชานางศักติทั้งหลายของอินเดียที่สามารถให้คุณและโทษก็ได้เพราะพระแม่เจ้ามีทั้งปางเมตตาและปราบมาร จนสุดท้ายก็พัฒนามาเป็นแม่ซื้อประจำวันจนในที่สุดก็ได้กลายเป็นเทพพาหนะของนพเคราะห์ไทยไปก็เป็นได้

(แต่ก็น่าสงสัยว่าในตำราเฉลิมไตรภพ ตำราที่ว่าด้วยตำนานกำเนิดเทพนพเคราะห์ทั้งหลาย

กล่าวว่า “พระจันทร์เกิดมาจาก เหล่านางฟ้า ไม่ใช่ม้าในขณะที่เทพทั้งหลายมาจากพลังของสัตว์พาหนะ ที่อาจนับได้ว่าเป็นศักติในความคิดแบบไทย ๆในความคิดฮินดูศักติคือเทวี”)

มาจากนางโยคินี โดยตรงดังกล่าวไปแล้วว่า นางโยคินี นั้นมีลักษณะเป็นเทวี มีทั้งปางที่งามและไม่งาม มีปางที่มีหน้าหรือเศียรเป็นรูปสัตว์ที่สำคัญเช่น

๑. โยคินี เทวีอุมา มีหน้าเป็นนกแก้ว อุ้มเด็กที่เป็นมีหน้าเป็นหมู (น่าจะเป็นตัวแทนของวราหาวตาร)

๒. โยคินี ไวนายกี มีหน้าเป็นช้าง ทรงหนูยักษ์(ตัวแทนแห่งศักติของพระวิฆเนศ)

๓. โยคินี ศศกานะนา มีหน้าเป็นกระต่าย และมีกระต่ายบางตัวหมอบอยู่ใกล้

๔. โยคินี สรปัสยา มีหน้าเป็นงู และมีพญางูแผ่แม่เบี้ยข้างหลังนาง ทรงช้าง

๕. โยคินี หยานะนา มีหน้าเป็นม้ามือหนึ่งถือปลา มือหนึ่งอุ้มเด็กที่มีหน้าเป็นม้า

(น่าจะเป็นตัวแทนของ “หยะครีวะ” วิษณุุอวตารเป็นกินนรหน้าม้า)

๖. โยคินี อชานะนา มีหน้าเป็นแพะ

๗. โยคินี โคมุกขี มีหน้าเป็นวัว ทรงวัว

๘. โยคินี ฤกษานะนา มีหน้าเป็นหมี สี่แขน

๙. โยคินี คชานะนา มีหน้าเป็นช้าง ถือสายฟ้า (ตัวแทนศักติแห่งพระอินทร์)

๑๐. โยคินี มฤคศิระ มีหัวเป็นกวาง ถือปลา อีกมือถือดอกบัว

๑๑. โยคินี วฤษานะนา มีหน้าเป็นมหิงษา(ควายป่า) ถือคฑา อีกมือถือผลไม้

๑๒. โยคินี สิงหมุกขี มีหน้าเป็นสิงโต อุ้มเด็กหน้าสิงห์ (ตัวแทนของ นรสิงหาวตาร)
ซึ่งโยคินีบางนาง เช่น หยานะนา ,เทวี อุมา และ สิงหมุกขี ต่างก็อุ้มเด็กที่เป็นเสมือน อวตารของวิษณุอยู่ด้วยซึ่งก็หมายถึงพลังของเทพองค์นั้นๆมีที่มาจากพลังคุ้มครองของพวกนางหรือพวกนางคุ้มครองปางอวตารนั้นๆของพระวิษณุองค์น้อยนั้น ผู้เป็นเสมือนปฐมเทพผู้ได้รับการเคารพว่าเป็นต้นแบบของจอมกษัตริย์ในแผ่นดินสุวรรณภูมิมาแต่ครั้งโบราณ

 

โดยเฉพาะแม่เกิดที่สำคัญนั้นมี 12 ตนประจำปีนักษัตรของล้านา อาจจะเทียบได้กับทวาทศมหาวิทยาของอินเดียดังนี้

 

ลำดับ

แม่เกิดประจำปีนักษรไทยวน

เปรียบเทียบชื่อฮินดู

ทวาทศมหาวิทยา

ไภรวะ

1

ใจ้ (ชวด) นางเอ้ยอริยา

อริยทุรคา

ทุรคา

นารทไภรวะ

2

เป้า (ฉลู) นางสาหด

ศารทเทวี (อวตารของสรัสวตีในนวทุรคา)

มาตังคี

มาตังคะ

3

ยี (ขาล) นางผุสดี /อังระนี

อรณี (เทวีแห่งไฟ /สวาหะชายาแห่งไฟ)

ธูมวตี

โฆรา

4

เหม้า (เถาะ) นางอังระนี/ ธรณี

ภูมิเทวี

ภูวเนศวรี

ตระยัมพัก

5

สี (มะโรง) นางอุมมาวดี

ปารวตี

ภะคลามุขี

เอกวักตระ

6

ใส้ (มะเส็ง) นางสีไวยะกา

ศรีไวษณวี (ในภาษาทมิฬ “ไวยะกา”)

ตรีปุระไภระวี

ทักษิณมูรติ

7

สะง้า (มะเมีย) นางหน่อฟ้า

อินทราณี (ธิดาสวรรค์ นางกวัก)

ตารา

อักโษภยะ

8

เม็ด (มะแม) นางมาลา/อุทายะบริสุทธ์

มาลาเทวี (มหาลักษมีอวตารแห่งไชนะ)

กมลาตมิกา

สทาศิวะ

9

สัน (วอก) นางมัณฑาธงดอกไม้

นางมานทา (ธามินีอวตารกาลีชายาพระเสาร์)

ฉันนะมัสตา

กะพันธะ

10

เร้า (ระกา) นางไกสร/สมุนรี

มเหศวรี/ สมุทรสุนทรี

ลลิตาตรีปุระ สุนทรี

ปัญจวักตระ

11

เส็ด (จอ) นางอมร /ประเสริฐดำล้ำ

กฤษณา /กาลี

กาลี

กาลไภรวะ

12

ใก๊ (กุน) ปัญจมาตามหาสีดาวิเศษ

สีดาเทวี (ปัญจกัลยา)

อันนปูรนา

ทศวักตระ

 

โดยแม่เกิดยังแบ่งเป็นแม่เกิดประจำ 10 วัน 10 เดือน และ 10 ปี ที่มารักษาเด็กแล้วต้องทำการบูชาให้ถูกต้อง ซึ่งสามารถเทียบได้กับทศมหาวิทยา คือ

แม่เกิดประจำ 10 เดือน

เทียบกับฮินดู

ทศมหาวิทยา

ทศาวตาร

1. นางเมนกะ  /เนกะ

นางอัปสรเมนกา

ตรีปุระไภระวี

วราหะ

2. นางสุนันทะ

ชายาพระอินทร์

ตารา

รามะ

3. นางบุตระ

นางไศลปุตรี

กาลี

กฤษณะ

4. นางผดะตัด / ผุสสะ

ภารตี เทวี   (ภูมิเทวี)

ภูวเนศวรี

กัลกี

5. นางภะมัสสะ / ภิมะสา

นางพรหมาณี  (ชายาพระพรหม)

มาตังคี

ปรศุราม

6. นางอัคคนิสสะ / อัคนิสา

นางสวาหะ /อรณีเทวี

ธูมวตี

มัสยะ

7. นางกิลาดเลาดี / ติโลวดี

นางไกลาสวดี (อุมา)/ติโลตตมา

ภะคลามุขี

กูรมะ

8. นางติมลากะ/ ติมาลา

นางติโลตตมา

ลลิตาตรีปุระ สุนทรี

วามนะ

9. นางนมะธนา /เมถนา

พระลักษมี

กมลาตมิกา

พลรามะ

10. นางเรณะปันนัง / เรวดี

นางเรณุกา/เรวตี

ฉันนะมัสตา

นรสิงหะ

 

 

 

อ้างอิง

ก่องแก้ว วีระประจักษ์. แม่ซื้อ. ศิลปากร. ปีที่ ๕๒. ฉบับที่ ๕. หน้า ๑๑๐-๑๑๓.

นริศรานุวัดดิวงศ์, สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยา และอนุมานราชธน,พระยา.บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ โอการแม่ซื้อ เรื่องปลูกมะพร้าว เพื่อการฝังรก. ศิลปากร. ปีที่ ๘. ฉบับที่ ๓. หน้า ๒๐-๒๘.

ประจักษ์ ประภาพิทยากร.(๒๕๓๒). นารายณ์สิบปาง ๔ สำนวน. กรุงเทพ: พี.วาทินพับลิเคชั่น.

พ.สุวรรณ.(๒๕๕๐). ตำราพรหมชาติ: สำหรับประชาชน. กรุงเทพฯ: บ้านมงคล.

ห้องสมุดมสธ (The office of documentation and information). (ม.ป.ป.) .แม่ซื้อ. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก : https://library.stou.ac.th/odi/mae-seu/page_4.html (26/3/2564)

Awasthi, A.B.L. (1983). Studies in Skanda Purana. Lucknow: Kailash Prakashan.

J.L. Shastri. (1970-1985). Ancient Indian tradition & mythology. Translated by a Board of schools. Delhi: Montital Banarsidss.

Machenzie, Donald A. (1989). Myths & Legends of India. Singapore:GrahamBrash.

Murthy, K. Krishna. (1985). Mythical animals in Indian art. New Delhi: Abhinav.

Noble, Margaret Elizabeth and Ananda K. Coomaraswamy. (1867-1911). Myths of the Hindus & Buddhists. New Delhi: Sagar.

Roveda, Vittorio.(2005). Images of the gods: Khmer mythology in Cambodia, Thailand and Laos. Bangkok: River Books.

Sri Kamakoti Mandali . (n.d.). Bhoga-Moksha Pradayani. [Online]. From website: https://www.kamakotimandali.com/srividya/bhogamoksha.html [26/3/2564]

Stutley, Margaret. (1980). Ancient Indian magic and folklore: an introduction. London: Routledge&Kegan Paul.

Shulman, David Dean. (1980). Tamil temple myths: sacrifice and Divince marriage in South Indian Saiva tradition. Princeton, N.J.: Princeton University Press.

Tours Orissa Company. (n.d.). 64 yogini temple – the old and cardinal heritage site in Odisha, India. [Online]. From website: https://www.toursorissa.com/temples-in-odisha/64-yogini-temple/ [26/3/2564]

Zimmer,Heinrich Robert. (1943). The art of Indian Asia: its mythology and transformations. Compiled and edited by Joseph Campbell. Delhi: Motilal Banarsidass.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น